อบสมุนไพรถูกวิธี

การอบสมุนไพรทำให้ร่างกายสดชื่น ผิวพรรณสดใส คลายความเมื่อยล้าแต่ก็มีข้อควรระวังสำหรับผู้มีปัญหาทางสุขภาพ

การอบสมุนไพรหรือการเข้ากระโจมเป็นสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของไทยที่สืบทอดกันมาหลายยุคสมัย ที่ลูกหลานไทยควรอนุรักษ์ไว้ เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ที่นำไปใช้ การอบสมุนไพรหรือการเข้ากระโจม คือ การอบตัวด้วยไอน้ำที่มาจากสมุนไพร เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีกำจัดมลทินต่าง ๆ ที่ปรากฏบนผิวเนื้อให้หมดไป กำจัดน้ำเหลืองเสีย และเป็นการบำรุงผิวหน้าไม่ให้เกิดฝ้า และบำรุงผิวพรรณให้สดใส สมุนไพรที่มักใช้กัน ได้แก่ เปลือกส้มโอ ใบส้มป่อย ว่านน้ำ ตะไคร้ ผักบุ้งล้อม มะกรูด ใบมะขาม ไพล เกลือหยิบมือ แล้วนำสมุนไพรต้มรวมกันในหม้อให้เดือดมีไอพุ่ง แล้วต่อท่อไม้ไผ่เข้าไปในกระโจมหรือยกหม้อยาที่ต้มเดือดพล่านแล้วเข้าไปตั้งไว้ในกระโจมก็ได้ แล้วให้ผู้เข้ากระโจมใช้ผ้าคลุมตัวในลักษณะเหมือนกระโจมเปิดแย้มฝาหม้อให้ไอค่อย ๆ ออกมารมตัวและให้ลืมตาและสูดหายใจเอาไอน้ำเข้าไป สมุนไพรจะทำให้สายตาดีและหายใจโล่ง การเข้ากระโจมมักทำในตอนเช้า ใช้เวลารวมประมาณครึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านั้นได้ยิ่งดี จนเหงื่อไหลท่วมตัวราวอาบน้ำ จึงออกจากกระโจมได้ การเข้าอบสมุนไพรแบบนี้ เรียกว่า เข้ากระโจมยา ถ้าหาอะไรไม่ได้ก็ใช้อิฐเผาไฟให้ร้อนจนแดง แล้วนำเข้าไปไว้ในกระโจมต่างหม้อยา จากนั้น ใช้น้ำเกลือราดลงบนอิฐให้เกิดไอพุ่งขึ้นมารมตัว เรียกว่า เข้ากระโจมอิฐ

            การเข้ากระโจม คล้ายอบตัวด้วยไอน้ำก่อนเข้ากระโจมจะทาตัวด้วยเหล้า การบูร และว่านนางคำ อาจทำเป็นท่อไม้ไผ่ต่อไอน้ำจากหม้อที่ต้มเดือดสอดเข้าในกระโจม หรือยกหม้อยาที่กำลังเดือดเข้าไปในกระโจมด้วย และค่อย ๆ เปิดทีละน้อยให้ไอขึ้นรมหน้า สมุนไพรที่ใช้ในการต้มมี 3  กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 เป็นสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ ใบมะขาม มะกรูดผ่าซีก ใบและฝัก ส้มป่อย สมุนไพรกลุ่มนี้จะเป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามผิวหนังให้ลื่นออกง่าย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด ทำให้ผิวหนังสะอาด และต้านทานต่อเชื้อโรคได้

กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ได้แก่ ใบตะไคร้ ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ไพล ผิวมะกรูด เปราะหอม ว่านน้ำ ใบหนาด กลุ่มนี้มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยลดอาการหวัด คัดจมูก นอกจากนี้ ใบตะไคร้และเหง้าขมิ้นมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย ส่วนไพลมีฤทธิ์ลดอาการบวมอักเสบได้

     กลุ่มที่ 3 ได้แก่ พิมเสน การบูร มีสรรพคุณทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยบำรุงหัวใจ และรักษาโรคผิวหนังบางชนิด

จากสมุนไพรทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่าการอบสมุนไพรทำให้การไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดการอักเสบ บวม อาการปวดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ทำให้รูขุมขนขยายออก สิ่งสกปรกถูกขับออกมาพร้อมกับเหงื่อ และสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรกเหล่านั้นให้ลื่นหลุดออกจากผิวหนังได้ง่าย ช่วยให้ผิวหนังมีความต้านทานต่อเชื้อโรคได้ดีขึ้น ทำให้ข้อที่ฝืดแข็ง ปวด ลดคลายความปวดและฝืดลง ทำให้เหงื่อถูกขับ กลิ่นหอมของสมุนไพรช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใส คลายความเครียด และบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก

ปัจจุบันการอบสมุนไพรมี 2 แบบ ได้แก่การอบแห้งและการอบเปียก โดย การอบแห้งเรียกทับศัพท์ว่า “ เซาว์น่า ” คล้ายคลึงกับการอยู่ไฟของไทย ซึ่งนิยมในต่างประเทศ โดยใช้ความร้อนจากถ่านหินบนเตาร้อน ส่วน การอบเปียกเป็นวิธีที่คนไทยนิยมและแพร่หลายในปัจจุบัน โดยพัฒนาจากการเข้ากระโจม มาเป็นห้องอบสมุนไพรที่ทันสมัยขึ้น สามารถให้บริการได้ครั้งละหลายคน โดยการใช้หม้อต้มสมุนไพรที่มีท่อส่งไอน้ำเข้าไปภายในห้องอบ การอบสมุนไพรของไทยนั้นเป็นการอบไอน้ำร้อน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการขับเหงื่อเพื่อรักษาโรคเฉียบพลัน  ฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเรื้อรัง และมารดาหลังคลอด รวมทั้งช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย การเข้ากระโจมอบไอน้ำไม่ควรทำเมื่อรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ หรือขณะกำลังหิว และทำในที่ที่ไม่มีลมพัด  วิธีการเข้ากระโจมนั้นควรค่อย ๆ เพิ่มความร้อนให้มากขึ้นจนเพียงพอกับความต้องการ     และเมื่อจะเลิกก็ลดความร้อนให้    ค่อย ๆ น้อยลงจนเท่าความร้อนปกติของร่างกาย แล้วจึงออกจากกระโจม เพราะการนำเอาผู้ป่วยเข้ากระโจมร้อนทันที และเมื่อเอาออกก็ถูกอากาศเย็นทันทีนั้นเป็นอันตราย อาจทำให้คนช็อกได้ ในการเข้ากระโจม ควรให้ดื่มน้ำใส่เกลือเค็มเล็กน้อย ดื่มบ่อย ๆ ได้จะเป็นการดี และควรมียาแก้ลมไว้ด้วย เมื่อออกจากกระโจมก็ควรห่มผ้าให้อุ่น ๆ ไว้ก่อน เมื่อรู้สึกสบายแล้วจึงเอาผ้าห่มออก และควรอาบน้ำอุ่นชำระร่างกายด้วย เมื่อหลังอาบน้ำควรห่มผ้าและนั่งหรือนอนให้สบายสักครู่ อย่าให้ถูกลม ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีลักษณะเหนียว ๆ และ ร้อน ๆ หลังเข้ากระโจม

 

ประโยชน์ของการอบสมุนไพร

  • ทำให้ร่างกายสดชื่น ผิวพรรณสดใส
  • คลายความเมื่อยล้า และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ช่วยให้ขับเหงื่อ และสามารถลดน้ำหนักได้ดีหากอบสมุนไพร ติดต่อกันภายในระยะเวลา 1 เดือน
  • กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ
  • ระบบทางเดินหายใจสดชื่น ลดการระคายเคืองในลำคอ
  • ช่วยละลายเสมหะ
  • ชวยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
  • ช่วยบรรเทาอาการหอบหืดเรื้อรัง
  • ทำให้ปอดขยายตัวได้ดี ระบบหายใจปลอดโปร่ง มีความคล่องตัวมากขึ้นไม่อึดอัด
  • ทำให้ผดผื่นคัน และอาการอักเสบของผิวหนังลดลงไปได้
  • ช่วยฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย อันก่อให้เกิดโรคกลากเกลื้อน ทำให้ผิวหนังเกลี้ยงเกลา สะอาด มีน้ำมีนวล

ไม่หมองคล้ำ

  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง เพราะเส้นโลหิตจะขยายออกทำให้โลหิตไหลเวียนสะดวกขึ้น ผิวพรรณจึงผุดผ่อง

เปล่งปลั่ง มีเลือดฝาด

  • ช่วยฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยที่กำลังพักฟื้น ให้คืนกลับมาแข็งแรงเป็นปกติเร็วขึ้น เสริมสร้างสุขภาพของผู้ที่อ่อนแอ

ขี้โรค ให้กลายเป็นคนที่มีสุขภาพดี กระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวแรงดีขึ้น สุขภาพจิตผ่องใส สุขภาพกายแข็งแรง

  • ทำให้มดลูกของสตรีหลังคลอดเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา การอบสมุนไพรจะทำให้สุขภาพร่างกายของสตรีหลังคลอดดีขึ้น แต่จะต้องทำการอบสมุนไพรหลังการคลอดประมาณ 10 วัน จึงจะได้ผลดี เพราะการอบสมุนไพร จะทำให้เกิดเลือดฝาดที่มีสีแดงบริสุทธิ์ขึ้นมานั่นเอง
  • ทำให้ใบหน้านิ่มนวล เกลี้ยงเกลา ผิวหน้าปราศจากความมัน และความหยาบกร้าน
  • ช่วยรักษาสิว ฝ้า ขจัดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า
  • ช่วยแก้อาการเหน็บชา อาการชาตามปลายเท้า ปลายนิ้วมือ แขน และขา
  • ช่วยขจัดความเมื่อยล้า บรรเทาอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ เส้น และเอ็น ให้เบาบางลง
  • ลดไขมันส่วนเกินของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้อง และส่วนอื่นๆ 

ของร่างกายเป็นต้น

 

 

 

 

 

ข้อห้ามและข้อควรระวังของการอบสมุนไพร

แม้ว่าการเข้ากระโจมหรือการอบสมุนไพรจะเกิดประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อาจเกิดอันตรายได้ คือ ทำให้วิงเวียน เป็นลม หมดสติ ดังนั้น จึงมีข้อควรระวังและข้อห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ากระโจมหรือการอบสมุนไพร ดังนี้คือ

  • ผู้ที่มีไข้สูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคปอดโรคลมบ้าหมู อยู่ในภาวะตกเลือด และผู้ที่มีอาการท้องร่วงขั้นรุนแรง
  • หากมีอาการอึดอัด หายใจไม่สะดวกในขณะอบสมุนไพรควรออกจากห้องอบทันที
  • (ไม่ควรใช้เวลาอบนานเกิน 10 – 15 นาที) ควรเข้าอบ 5 นาที และออกมาพัก 5 นาทีจึงกลับเข้าไปอบใหม่อีกครั้งประมาณ 10 นาที
  • เมื่อออกจากห้องอบ ไม่ควรตากลมหรืออาบน้ำทันที ควรนั่งพักประมาณ 30 นาทีข้อห้ามในการเข้ากระโจม
  • มารดาหลังคลอด 1- 2 วันไม่ควรเข้ากระโจม เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ ควรทอดระยะออกไปประมาณ 4-5 วัน หลังคลอดให้แน่ใจว่าร่างกายแข็งแรงพอ
  • มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน กำลังหิวข้าว น้ำหรืออิ่มเกินไป
  • มีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือกำลังคลื่นไส้อาเจียน

ตัวอย่างสูตรตัวยาอบสมุนไพร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ 4 ขนาน ดังนี้

สูตรที่ 1

 

    ใบมะกรูด

    ใบมะขามแก่

    ต้นตะไคร้ทุบแตก ตัดเป็นท่อนสั้น

    หอมแดงทุบแตก

    ไพลหั่นเป็นแว่น

    ใบส้มป่อย

    การบูรบดละเอียด

 

สูตรที่ 2  

 

    ใบส้มโอ

    ใบมะขามแก่

    ใบมะกรูด

    ไพลทุบแตก

    เหง้าข่าแก่ทุบแตก

    ใบกระเพราแดง

    การบูรบดละเอียด

 

สูตรที่ 3

 

    ว่านน้ำ (ถอนมาทั้งราก ลำต้น ใบ)  

    ผักหนาม (ถอนมาทั้งต้น)

    ใบมะกรูด

    หอมแดง

    ต้นตะไคร้ทุบ ตัดเป็นท่อนสั้น

    ส้มป่อย

    การบูรบดละเอียด 

 

สูตรที่ 4

 

    เหง้าไพลทุบแตก

    เหง้าขมิ้นชันทุบแตก

    เหง้าข่าแก่ทุบแตก

    ใบมะขามแก่

    ดอกดีปลี

    รากเจตมูลเพลิงแดง

    หอมแดงทุบแตก

    ส้มป่อย

    ตะไคร้ทุบแตก

    ใบส้มโอ

    ใบกระเพราแดง

        ต้นทองพันชั่งทั้งรากสับชิ้นเล็ก ๆ

    การบูรบดละเอียด

 

วิธีปรุงส่วนผสม

        ตัวอย่างในสูตรที่ 1 นำสมุนไพรทั้งหมดล้างให้สะอาด จากนั้นให้เอาใบมะกรูดมาเด็ด  และฉีกเป็นชิ้น ๆ  ต้นตะไคร้เอามาทุบและหั่นเป็นท่อน ๆ ประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้ต้มได้ง่ายขึ้น รูดใบมะขามแก่ แล้วขยี้ใส่ลงไปในหม้อต้มทั้งใบและก้าน ขยี้ใบส้มป่อย ใส่ลงในหม้อต้มทั้งใบและก้าน เอาไพลมาหั่นเป็นแว่นแล้วทุบ ทุบหอมแดงให้แตก ใส่ลงไปในหม้อต้ม ส่วนการบูรนั้น ให้โรยลงไปเวลาที่น้ำสมุนไพรกำลังเดือดจัด เพื่อให้การบูรส่งกลิ่นหอม และรักษาคุณประโยชน์ของการบูรไว้อย่างเต็มที่ ไอร้อนน้ำร้อนจากการต้มสมุนไพรนี้ จะนำมาใช้ประโยชน์ในการอบสมุนไพรเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากต้องการทำเป็นสมุนไพรแห้ง จะต้องนำสมุนไพรไปตากแดด หรืออบด้วยความร้อนให้แห้งเสียก่อน แล้วจึงนำมาบดละเอียด รวมทั้งใส่การบูรที่บดจนละเอียดแล้วผสมลงไปด้วย กลิ่นหอมของการบูรจะโชยออกมาทันที จากนั้นนำไปบรรจุในถุงผ้าขาวบาง และห่อหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาจากสมุนไพรระเหยหรือระเหิดออกไปจนเสียสรรพคุณสำคัญ อันจะทำให้การใช้ยาอบสมุนไพรนี้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

 

วิธีอบสมุนไพร (การเข้ากระโจม)

       ปัจจุบันได้เปลี่ยนภาชนะจาก “หม้อต้มดินเหนียว” มาเป็น “หม้อหุงข้าวไฟฟ้า” แทนหรืออาจใช้หม้ออลูมิเนียมแทนได้แต่ต้องมีฝาปิดมิดชิด การต้มสมุนไพรต้องต้มสมุนไพรจนน้ำเดือดพล่าน (ระวังสมุนไพรทะลักออกมานอกหม้อต้ม) จากนั้น ยกหม้อต้มยาไปวางไว้ในกระโจมที่จะใช้อบร่างกาย โดยวางหม้อสมุนไพรไว้ตรงหน้าของผู้เข้ากระโจม เผยอปากหม้อเพียงเล็กน้อย พร้อมกันนั้นให้ใส่การบูรที่บดละเอียดแล้วลงไปในหม้อยาสมุนไพรที่กำลังเดือดจัด โดยค่อย ๆ โรยการบูรลงไปที่ละนิด ๆ กลิ่นอายของการบูรจะนำพาตัวยาสมุนไพรแพร่กระจายออกไป ช่วยให้สูดไอกลิ่นหอมของสมุนไพรเข้าปอดอย่างเต็มที่ จะรู้สึกถึงความโล่งสบายในระบบทางเดินหายใจ และสบายเนื้อสบายตัว

 

       การอบสมุนไพรที่เหมาะสม ควรใช้ระยะเวลาในการอบเพียง 10-15 นาที ไม่ควรมากกว่านั้น เมื่อครบตามกำหนดเวลาออกจากกระโจม และต้องปรับตัวเพื่อสัมผัสกับอากาศภายนอกและรอจนร่างกายแห้งดีแล้วจึงค่อยอาบน้ำ

 

 

 

    • II ที่ตั้ง บ้านเตยหอม : 74/42 ม.5 ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี11110Tel : 08-9892-4335 ,09-5961-3964 ,02-924-1451 Fax : 02-000-8597 e-mail :toeihomhouse@gmail.com Line ID :...
Visitors: 204,824